พระสูตร: มิตรแท้ มิตรเทียม

มิตรเทียม


[๑๘๖] ดูกรคฤหบดีบุตร คน ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ 
-
คนนำสิ่งของๆ เพื่อนไปถ่ายเดียว [คนปอกลอก] ๑ 
คนดีแต่พูด ๑ 
คนหัวประจบ ๑ 
คนชักชวนในทางฉิบหาย ๑ 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ฯ
-
[๑๘๗] ดูกรคฤหบดีบุตร คนปอกลอก 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียม
มิตรโดยสถาน ๔ คือ 
-
เป็นคนคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๑ 
เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ๑ 
ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย ๑ 
คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๑ 
ดูกรคฤหบดีบุตรคนปอกลอก 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรเป็นแต่คนเทียมมิตร 
โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
-
[๑๘๘] ดูกรคฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน ๔ คือ 
เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย ๑ 
อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย ๑
สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ 
เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดงความขัดข้อง [ออกปากพึ่งมิได้] ๑
ดูกรคฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
-
[๑๘๙] ดูกรคฤหบดีบุตร คนหัวประจบ 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียม
มิตรโดยสถาน ๔ คือ 
ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว [จะทำชั่วก็คล้อยตาม] ๑ 
ตามใจเพื่อนให้ทำความดี [จะทำดีก็คล้อยตาม] ๑ 
ต่อหน้าสรรเสริญ ๑
ลับหลังนินทา ๑ 
ดูกรคฤหบดีบุตรคนหัวประจบ 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
-
[๑๙๐] ดูกรคฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางฉิบหาย 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน ๔ คือ 
ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย 
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ 
ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ๑ 
ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ๑ 
ชักชวนให้เล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ 
ดูกรคฤหบดีบุตร คนชักชวนในทางฉิบหาย 
ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรเป็นแต่คนเทียมมิตร
โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
-
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา 
ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว 
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์
ต่อไปอีกว่า
[๑๙๑] บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ 
มิตรปอกลอก ๑ 
มิตรดีแต่พูด ๑
มิตรหัวประจบ ๑ 
มิตรชักชวนในทางฉิบหาย ๑ 
ว่าไม่ใช่มิตรแท้ ดังนี้แล้ว
พึงเว้นเสียให้ห่างไกล 
เหมือนคนเดินทางเว้นทางที่มีภัย ฉะนั้น ฯ

--------------------------------------

มิตรแท้


[๑๙๒] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ 
มิตรมีอุปการะ ๑ 
มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ 
มิตรแนะประโยชน์ ๑ 
มิตรมีความรักใคร่ ๑ 
ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรมีใจดี [เป็นมิตรแท้] ฯ
-
[๑๙๓] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ 
ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ
รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ 
รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ 
เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ 
เมื่อกิจที่จำต้องทำเกิดขึ้นเพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า 
[เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก] ๑ 
ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ 
ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
-
[๑๙๔] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ 
ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔
คือ บอกความลับ [ของตน] แก่เพื่อน ๑ 
ปิดความลับของเพื่อน ๑ 
ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑
แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑ 
ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้
โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
-
[๑๙๕] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ 
ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ 
ห้ามจากความชั่ว ๑ 
ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ 
ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ 
บอกทางสวรรค์ให้๑ 
ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้
โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
-
[๑๙๖] ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ 
ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ คือ 
ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ๑ 
ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน ๑ 
ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ 
สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑ 
ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้
โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ
-
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว 
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์
ต่อไปอีกว่า
[๑๙๗] บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ 
มิตรมีอุปการะ ๑ 
มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ 
มิตรแนะประโยชน์ ๑ 
มิตรมีความรักใคร่ ๑ 
ว่าเป็นมิตรแท้ ฉะนี้แล้ว 
พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพเหมือนมารดากับบุตรฉะนั้น 
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล 
ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ
เมื่อบุคคลออมโภคสมบัติอยู่เหมือนแมลงผึ้งผนวกรัง 
โภคสมบัติย่อมถึงความสั่งสมดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น 
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ 
ครั้นสะสมโภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว 
พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็นสี่ส่วน 
เขาย่อมสมานมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภค
สมบัติด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน 
พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วย 
หมายว่าจักมีไว้ในยามอันตราย ดังนี้ ฯ
-------------------------------------
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๑
สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
หน้าที่ ๑๔๒ ข้อที่ ๑๘๖ - ๑๘๗

เครดิต: ตะวัน พุทธวจน Google+