พระสูตร: ปฏิปทา 4 ทั้ง 2 แบบ

แบบที่ 1

๒. วิตถารสูตร  ว่าด้วยปฏิปทา 

      [๑๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ปฏิปทา ๔  นี้   ฯลฯ  คือ ทุกฺขา  ปฏิปทา  ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติลำบาก  ทั้งรู้ได้ช้า  ทุกฺขา  ปฏิปทา  ขิปปาภิญฺญา  ปฏิบัติลำบาก  แต่รู้ได้เร็ว สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว

ปฏิบัติลำบาก  ทั้งรู้ได้ช้าเป็นไฉน ?

     บุคคลบางคนโดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า   ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะเนือง ๆบ้าง    โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้าได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะเนือง ๆบ้าง   โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิด  เพราะโมหะเนือง ๆ บ้าง  อินทรีย์   ๕ คือ  สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา ของเขาก็อ่อน เพราะอินทรีย์  ๕  นี้อ่อนเขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า  นี้เรียกว่า  ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า 

ปฏิบัติลำบาก  แต่รู้ได้เร็วเป็นไฉน  ?   

     บุคคลบางคนโดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะเนือง ๆ บ้าง  โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้าได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะเนือง ๆ บ้าง   โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า  ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะเนือง ๆ  บ้าง แต่อินทรีย์  ๕  คือ  สัทธา  วิริยะ   สติ  สมาธิ   ปัญญา  ของเขาแก่กล้า   เพราะอินทรีย์ ๕ นี้ แก่กล้า  เขาย่อมบรรลุอนันต-ริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่าปฏิบัติลำบาก  แต่รู้ได้เร็ว

ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้าเป็นไฉน ?

     บุคคลบางคนโดยปกติ  มิใช่  เป็นคนมีราคะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะ  มิใช่เป็นคนมีโทสะกล้า  มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะ อนึ่ง โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโมหะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะ แต่อินทรีย์ ๕ คือ  สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ ปัญญา  ของเขาอ่อน  เพราะอินทรีย์  ๕ นี้อ่อนเขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า นี้เรียกว่า ปฏิบัติ สะดวก แต่รู้ได้ช้า

ปฏิบัติสะดวก  ทั้งรู้ได้เร็วเป็นไฉน ?

     บุคคลบางคนโดยปกติ มิใช่เป็นคนมีราคะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะ  โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโทสะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะ  อนึ่ง  โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโมหะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะ ทั้งอินทรีย์๕  คือ   สัทธา  วิริยะ  สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาก็แก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ นี้แก่กล้า   เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่าปฏิบัติสะดวก ทั้งได้รู้เร็ว ภิกษุทั้งหลาย นี้แลปฏิปทา  ๔.

จบวิตถารสูตรที่ 

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2 - หน้าที่ 386

---------------------------------

แบบที่ 2

แบบปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า

     ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เป็นผู้มีปกติเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญาว่า ปฏิกูลในอาหาร มีสัญญาในโลกทั้งปวง โดยความเป็นของไม่น่ายินดีเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน. ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละโอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ ; แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่าอ่อน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้ยังอ่อน ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า :
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า.

 

แบบปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว

     ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เป็นผู้มีปกติเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญาว่า ปฏิกูลในอาหาร มีสัญญาในโลกทั้งปวง โดยความเป็นของไม่น่ายินดีเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน. ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิรยพละ ปัญญาพละ ; แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้นปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง (แก่กล้า) คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้มีประมาณยิ่ง ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว : ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว

 

แบบปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า

     ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน (มีรายละเอียดดังที่แสดงแล้วในที่ทั่วไป) แล้วแลอยู่. ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ ; แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้นปรากฏว่าอ่อน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้ ยังอ่อน ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า : ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า.

 

แบบปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว

     ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน ... แล้วแลอยู่. ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ ; แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้นปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้มีประมาณยิ่ง ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว : ภิกษุ ทั้งหลาย. ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เหล่านี้แล ปฏิปทา ๔ ประการ.